โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดเด็กช่วงฤดูฝน

          สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยโรคมือ เท้า ปาก พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของความสะอาด และไม่ควรนำเด็กไปในสถานที่ที่แออัด หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

          นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมือ เท้า ปาก มักพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบได้ประปรายในเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันอย่างแออัด เช่น ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีและจะพบเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ปากจากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก น้ำตุ่มพองและแผลของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังเกิดจากการไอจามรดกัน
         
          นายแพทย์วิบูลย์ กาญจนพัฒนกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเด็กได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน จะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วันจะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม มีตุ่มพองใสแดงที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น เข่าทั้งสองข้างด้วย ผื่นมักจะไม่คันและหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการ โดยปกติมักไม่รุนแรงและหายได้เองหากไม่มีอาการแทรกซ้อน ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ควรรีบนำไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ผู้ปกครองสามารถดูแลได้โดย 1.รักษาความสะอาดล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือภายหลังการขับถ่าย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้ง 2.หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และใช้ช้อนกลางรับประทานอาหาร 3.ตัดเล็บเด็กให้สั้น ป้องกันการเกา 4.ไม่ควรนำเด็กไปในสถานที่ที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค 5.หากเด็กเป็นโรคนี้ไม่ควรไปโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ต้องแจ้งทางโรงเรียนทราบ และควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ ที่สำคัญผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากมีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว

แหล่งที่มาอ้างอิง: #กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #โรคมือเท้าปาก #โรคระบาดในฤดูฝน https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/129317/