ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเสี่ยงเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เตือนปวดท้องใต้ชายโครงขวาอาจเสี่ยงต่อการเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน หากปล่อยทิ้งไว้นาน ถุงน้ำดีอาจเน่าหรือทะลุ เกิดการติดเชื้อรุนแรงในช่องท้อง ทำให้เสียชีวิตได้

 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน คือภาวะถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบขึ้นทันทีทันใด มักมีอาการปวดท้องรุนแรง บริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวาโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ จะปวดขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับอาการมีไข้ ส่วนมากมีสาเหตุเกิดจากก้อนนิ่วไปอุดตันท่อทางเดินน้ำดี ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียนและอาจหนาวสั่นร่วมกับอาการปวดท้อง หากถุงน้ำดีแตก จะมีไข้สูง หน้าท้องแข็ง กล้ามเนื้อจะหดเกร็ง เจ็บทุกส่วนของช่องท้อง ผู้ป่วยที่เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรง โดยเกิดอาการนานหลายชั่วโมง ร่วมกับอาการไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคถุงน้ำดีอักเสบควรได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเร่งด่วน

 

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ถุงน้ำดีมีหน้าที่หลักในการเก็บสำรองน้ำดีที่ผลิตจากตับ แล้วก็ทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น น้ำดีช่วยในการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมัน หากเกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี จะส่งผลให้ถุงน้ำดีบวม อักเสบ

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี แบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1.เกิดจากนิ่ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด 2.สาเหตุอื่นที่พบได้น้อยมากหากเทียบกับอาการที่เกิดจากนิ่ว เช่น การเกิดพังผืดอุบัติเหตุที่ทำให้ถุงน้ำดีฉีกขาด การติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือภาวะแทรกซ้อนจากการป่วยหนัก สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นถุงน้ำดีอักเสบจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยแพทย์จะคอยดูแลอาการอักเสบของถุงน้ำดี และอาการป่วยอื่น ๆ ควบคู่กันไป

 

นิ่วในถุงน้ำดีนั้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักพบในผู้หญิงอ้วน อายุเยอะ ถุงน้ำดีอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคได้ การลดความเสี่ยงดังกล่าวทำได้โดยการลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปเสี่ยงเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้สูง การลดน้ำหนัก ไม่ควรหักโหมลดน้ำหนัก ควรเลือกรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ หรือธัญพืชต่างๆ เพราะเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงร่วมกับการออกกำลังกาย การป้องกันตัวเองในเบื้องต้นเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีและการเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันได้

 

แหล่งที่มาอ้างอิง: สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข https://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=108775