เตือนหลังฝนตกหลายพื้นที่มีน้ำขัง อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหลังฝนตกในหลายพื้นที่จะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ เผยข้อมูลปีนี้พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่า 4 หมื่นรายแล้ว เพียงสัปดาห์เดียวที่ผ่านมามีผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 3.3 พันราย พร้อมแนะยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในฤดูฝน ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกิดน้ำท่วมขังและในบางพื้นที่มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายได้ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 7 สิงหาคม 61 มีผู้ป่วยแล้ว 41,094 ราย เสียชีวิต 48 ราย โดยผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 3,301 ราย และกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มวัยเรียนถึงวัยทำงาน (อายุ 10-34 ปี) รวมกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์ว่าในช่วงหน้าฝนปีนี้ (มิ.ย.-ก.ย.) จะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่า 10,000 รายต่อเดือน เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม (13,233 และ 10,812 ราย ตามลำดับ) เฉพาะเดือนพฤษภาคมก่อนเข้าฤดูฝน กับเดือนมิถุนายนที่เป็นฤดูฝนแล้ว พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว (7,020 กับ 13,233 ราย) โดยในช่วงนี้ทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกได้
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้
แหล่งที่มาอ้างอิง: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค