เตือนผู้ปกครองระวังบุตรหลานป่วย “โรคมือ เท้า ปาก”
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวังบุตรหลานป่วย “โรคมือ เท้า ปาก” เผยพบผู้ป่วยในช่วงหน้าฝนเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นราย โดยเฉพาะบุตรหลานอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีไข้ และมีจุดหรือผื่นแดงบริเวณ ลิ้น กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือฝ่าเท้า ให้รีบพบแพทย์ทันที
วันที่ 27 สิงหาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ “โรคมือ เท้า ปาก” ว่ามักพบโรคนี้ในช่วงหน้าฝน เมื่อได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะมีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และตุ่มพองใสรอบๆ มีจุดแดงที่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือและเท้า โรคนี้รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหารเหลว และให้ยาทาแผลในปาก ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้
ข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วย 41,702ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก (อายุ 1-3 ปี) จากข้อมูลตั้งแต่เข้าฤดูฝน (มิ.ย. – ก.ค. 61) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยเดือนละกว่า 10,000 ราย (10,008 และ 13,802)
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษา ช่วยกันดูแลสังเกตอาการเด็กในความปกครองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย มีอาการเจ็บปาก มีตุ่มแดงที่ปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย ทั้งนี้ ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม หากอาการไม่ดีขึ้น หรือ มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันการรับเชื้อโรคมือ เท้า ปาก สามารถทำได้ ดังนี้ 1.สอนให้บุตรหลานรักษาความสะอาด โดยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ 2.หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในสถานที่ที่มีคนแออัด ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก 3.ดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีให้ถูกสุขลักษณะของสถานที่ หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในห้องน้ำ ห้องส้วม รวมถึงของใช้ ของเล่นของเด็ก เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
แหล่งที่มาอ้างอิง: สำนักโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค, http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=115310