ผู้ป่วย “อีสุกอีใส” ระวังโรคแทรกซ้อน

แพทย์ชี้ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส ต้องระวังโรคแทรกซ้อนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส


นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว การดูแลคนไข้อีสุกอีใสจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะทำให้ลดการแพร่กระจายของโรค และลดภาวะเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิต เช่น โรคปอดบวม โรคสมองอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้าพบมีไข้ขึ้นสูง หรือเป็นไข้ติดต่อนานกว่า 4 วัน ไอ หอบ เหนื่อย ต้องรีบพบแพทย์


แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster virus ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สามารถติดต่อได้ด้วย การไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้เป็นโรค โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี อาการจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันจะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ และกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน ดูคล้ายตุ่มหนอง และมีอาการคัน 2-4 วัน ต่อมาจะค่อยๆ ตกสะเก็ด โดยทั่วไปตุ่มอีสุกอีใสมักหายกลายเป็นแผลเป็นหลุม โดยเฉพาะถ้าแกะเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน


โรคนี้เมื่อหายแล้ว มักจะมีเชื้อหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งอาจเป็นโรคงูสวัดภายหลังได้ โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้โดยมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ดังนั้นผู้ป่วยควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ ยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ ควรใช้สบู่อ่อนๆ อาบน้ำ ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่ม ในรายที่มีอาการคันมาก อาจให้ยาช่วยลดอาการคันหรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือล้างและปิดบาดแผล ทั้งนี้โรคอีสุกอีใสใน ผู้ใหญ่และคนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำจะมีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในการรักษา


แหล่งที่มาอ้างอิง: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=115401