กรมควบคุมโรคแนะนำวิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
กรมควบคุมโรคแนะนำวิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เน้นหมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังควรดูแลเป็นพิเศษ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือจาม อาการที่แสดงหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสประมาณ 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ดังนี้ อาการยังเล็กน้อยจะมีไข้ ไอ มีน้ำมูก และเจ็บคอ หากอาการรุนแรง จะหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง วินิจฉัยได้จากการตรวจหาเชื้อไวรัสอาร์เอสวีจากสารคัดหลั่งในจมูก การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ ส่วนยาสำหรับการรักษาเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและยังไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี การติดเชื้อดังกล่าวจะพบได้ในทุกกลุ่ม แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ ในประเทศไทยพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
สำหรับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส สำหรับประชาชนทั่วไป ให้หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร เป็นต้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบโดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือน ไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูกหรือตา ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกันและหลีกเลี่ยงใช้แก้วน้ำที่ผู้ป่วยใช้แล้ว ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบว่าเด็กที่ป่วยมาสัมผัสหรือเล่นของเล่นนั้นๆ สำหรับผู้ป่วย หากมีอาการป่วยควรหยุดพักและปิดปาก จมูกเมื่อไอหรือจาม ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ ควรดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำทำให้สารคัดหลั่ง เช่นเสมหะหรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไปและไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินทางหายใจ อาการของการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในเด็กโตและผู้ใหญ่จะดีขึ้น หลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบ เหนื่อย รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์
แหล่งที่มาอ้างอิง: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข http://nwnt.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC6109040010094