กรมควบคุมโรค รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก แนะประชาชนยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก ในช่วงนี้บางพื้นที่ยังมีฝนตก ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ รวมถึงภาชนะที่ใช้เก็บกักน้ำในบ้าน อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ หากมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
วันนี้ (17 มิถุนายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝน เป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่า แต่ละปีจะมี ผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีทั่วโลกประมาณ 50 - 100 ล้านคน ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกมาจากภูมิภาคเอเชีย จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของประเทศสมาชิก 7 จาก 10 ประเทศ พบว่าในปี 2562 ทั้ง 7 ประเทศมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าเกณฑ์ตรวจจับการระบาด (Alert threshold) สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดมากกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 มกราคม – 11 มิถุนายน 2562 มีรายงานผู้ป่วย 28,785 ราย ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2561 ถึง 1.7 เท่า และพบผู้ป่วยเสียชีวิต 43 ราย อัตราป่วยตายสูงกว่าปกติ คือร้อยละ 0.15
กรมควบคุมโรค มีมาตรการสำคัญ เพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้มีการระบาด และขยายวงกว้าง จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดของกรมควบคุมโรค ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ดำเนินการให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลาย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562 – 2566) โดยมีสาระสำคัญ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ใน 7ร. คือโรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน และสถานที่ราชการ รวมทั้งสื่อสารสนับสนุน รณรงค์การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลายอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและบริหารจัดการฐานข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านทางกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ภายใต้โครงการจิตอาสาฯ เราทำความดีด้วยหัวใจ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่อง สัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
แหล่งที่มาอ้างอิง: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/128497/